โรงเรียนสอนภาษาพรรัตน์ (OEC)
99/317 ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 26 ถนนนนทรี แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ 10120
Tel: 02-681-0278-9 , 081-658-1681, 086-334-1681
Copyright © 2007-2009 oecschool.com
www.oecschool.com

    หัวข้อ: ความลับศาสตร์ หยินหยาง (阴阳)
ผู้เขียน:
hutji
กระทู้: 9
รายละเอียดกระทู้:

หยินและหยาง

Posted by Aekarat on Aug 2, '07 7:02 AM for everyone
ที่มา http://aekarat.multiply.com/journal/item/14/14

ในทัศนะของชาวจีน มีน้อยเกินไป ดีกว่า มีมากเกินไป ไม่ได้ทำ ดีกว่า ทำมากเกินไป เพราะแม้ว่าถึงเราจะไม่ก้าวหน้าไปไกลแต่ก็แน่ใจได้ว่าเราจะไปถูกทาง เปรียบกับชายผู้ปรารถนาจะไปให้ไกลสุดทางตะวันออก ท้ายที่สุดจะกลับไปทางตะวันตก หรือผู้ปรารถนาจะสะสมเงินมาก ๆ เพื่อให้ตนเองร่ำรวย ท้ายสุดจะต้องกลับมาเป็นคนจน การที่สังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่กำลังพยายามอย่างต่อเนื่องในการเพิ่ม มาตรฐานการครองชีพจึงทำให้คุณภาพของชีวิตของสมาชิกในสังคมนั้น ๆ ลดลง นับเป็นภาพที่แสดงปัญญาของจีนโบราณดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

ความคิดในเรื่องแบบแผนแห่งการหมุนวนของเต๋า ได้ถูกกำหนดเป็นโครงสร้างที่แน่นอนโดยการเสนอว่ามีขั้วตรงกันข้ามสองอันคือ หยิน กับ หยัง เป็นขั้วซึ่งกำหนดขอบเขตของวงเวียนแห่งการเปลี่ยนแปลง

เมื่อหยังถึงจุดสูงสุดก็ต้องถอยให้กับหยิน

เมื่อหยินถึงจุดสูงสุดก็ต้องถอยให้กับหยัง

ในทัศนะแบบจีน สิ่งปรากฏแสดงทั้งมวลของเต๋ามาจากการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของแรงแห่งขั้วทั้งสอง ความคิดนี้เป็นความคิดที่เก่ามาก และชนหลายรุ่นได้ถือเอาสัญลักษณ์แห่งหยิน หยังจนกระทั่งมันกลายเป็นความคิดพื้นฐานของจีน ความหมายเดิมของคำว่าหยินและหยัง คือส่วนที่เป็นเงาและส่วนที่ต้องแสงแดดของภูเขา ซึ่งแสดงความสัมพันธ์ของความคิดทั้งสองได้เป็นอย่างดี สิ่งที่ปรากฏเดี๋ยวมืดเดี๋ยวสว่างเรียกว่า เต๋า

นับแต่ยุคแรกสุด ขั้วทั้งสองของธรรมชาติไม่เพียงแต่แทนความสว่างและความมืดเท่านั้น แต่ยังแทนด้วยความเป็นชายและความเป็นหญิง แข็งและอ่อนข้างบนและข้างล่าง  หยังส่วนที่เป็นความเข้มแข็ง ความเป็นชาย พลังสร้างสรรค์นั่นคือฟ้า ในขณะที่หยินส่วนที่เป็นความมืด ความอ่อนโยน ความเป็นหญิงและความเป็นแม่นั่นคือดิน ฟ้าอยู่เบื้องบนและเต็มไปด้วยความเคลื่อนไหว ดิน ในทัศนะเดิม อยู่เบื้องล่างและสงบนิ่ง ดังนั้นหยังแทนความเคลื่อนไหวและหยินแทนการสงบนิ่งในเรื่องของความคิดหยินคือจิตใจที่ซับซ้อนแบบหญิงเป็นไปในทางญาณปัญญา  หยังคือจิตใจที่ชัดเจนมีเหตุมีผลอย่างชาย หยินคือความเงียบนิ่งอย่างสงบของปราชญ์ หยังคือการกระทำที่สร้างสรรค์อย่างมีพลังของจักรพรรดิ

ลักษณะการเคลื่อนไหวของหยินและหยัง ถูกแสดงด้วยสัญลักษณ์ของจีนโบราณที่เรียกว่า ไท้ จิ ถู หรือ แผนผังแสดงสัจธรรมสูงสุดแผนผังนี้แสดงสมมาตรระหว่างส่วนที่มืดคือหยินกับส่วนที่สว่างคือหยัง ทว่ามิใช่สมมาตรที่อยู่นิ่ง แต่เป็นสมมาตรแห่งการหมุนวนอันเปี่ยมไปด้วยพลัง 


เมื่อหยังหมุนกลับสู่จุดเริ่มต้น หยินก็เป็นใหญ่ แล้วก็หมุนไปสู่หยังอีก

จุดสองจุดในแผงผังแทนความคิดที่ว่า  เมื่อใดที่แรงหนึ่งแรงใดถึงจุดสูงสุดในตัวมันขณะนั้นก็มีพืชพันธ์ของสิ่งตรงข้ามอยู่ด้วยแล้ว

คู่ของหยินและหยังเป็นเสมือนอุปรากรที่เปิดแสดงซ้ำแล้วซ้ำเล่า แทรกซึมอยู่ในวัฒนธรรมของจีน และเป็นสิ่งกำหนดลักษณะทั้งมวลของวิถีตามแบบจีน จางจื้อกล่าวว่า ชีวิตคือการผสมผสานอย่างกลมกลืนของหยินและหยังเนื่องจากเป็นประเทศเกษตรกรรมชาวจีนจึงคุ้นเคยกับการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ และการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลและปรากฎการณ์แห่งการเจริญเติบโตและการเสื่อมสลายของธรรมชาติฝ่ายอินทรียวัตถุจึงถือได้ว่าเป็นการแสดงที่ชัดเจนของการขับเคี่ยวระหว่างหยินกับหยัง ระหว่างฤดูหนาวที่มืดและเยือกเย็นกับฤดูร้อนที่สว่างและร้อนแรง การขับเคี่ยวในฤดูกาลของขั้วต่างทั้งสอง สะท้อนออกมาในอาหารที่รับประทานซึ่งจะมีทั้งหยินและหยางในทัศนะของชาวจีนแล้ว อาหารที่มีคุณค่าต้องประกอบด้วยหยินและหยางในสัดส่วนที่สมดุลกัน 

            การประทะกันของหยินและหยาง

การแพทย์แผนโบราณของจีนก็เช่นกัน ตั้งอยู่บนรากฐานแห่งความสมดุลระหว่างหยินและหยังในร่างกายของมนุษย์ ความเจ็บไข้ใด ๆ เกิดจากสมดุลนี้เสียไป ร่างกายถูกแบ่งเป็นส่วนหยินและหยาง กล่าวรวม ๆ ว่าภายในร่างกายคือหยาง ผิวนอกร่างกายคือหยิน ด้านหลังคือหยัง ด้านหน้าคือหยิน อวัยวะต่าง ๆ ก็มีทั้งที่เป็นหยินและหยาง ความสมดุลระหว่างส่วนต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ถูกหล่อเลี้ยงอยู่ด้วยการเลื่อนไหลของ ฉี้ หรือพลังงานแห่งชีวิต

การขับเคี่ยวระหว่างหยินและหยังอันเป็นคู่ตรงข้ามจึงเป็นเสมือนกฎเกณฑ์แห่งการเคลื่อนไหวของเต๋า แต่ชาวจีนมิได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น พวกเขาได้ทำการศึกษาต่อไปถึงความสัมพันธ์หลายรูปแบบหลายรูปแบบของหยินและหยาง ซึ่งได้พัฒนาขึ้นเป็นระบบของแบบแผนแห่งเอกภาพ ปรากฏอย่างละเอียดลอออยู่ในคัมภีร์ อี้จิง คัมภีร์แห่งการเปลี่ยนแปลง

คัมภีร์แห่งการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นคัมภีร์เล่มแรกในบรรดาคัมภีร์สุดยอดทั้งหกของขงจื้อ และต้องถือว่าเป็นงานที่เป็นหัวใจของความคิดและวัฒนธรรมของจีนความนิยมและความยอมรับนับถือของชาวจีนต่อคัมภีร์เหล่านี้ตลอดหลายพันปีที่ผ่านมา เทียบได้กับความนิยมและยอมรับในหลาย ๆ คัมภีร์ เช่น คัมภีร์พระเวทและคัมภีร์ไบเบิ้ล ในวัฒนธรรมอื่น  ริชาร์ด วิลเฮล์ม  ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนได้เขียนคำนำในการแปลคัมภีร์เล่มนี้ไว้ว่า

อี้จิ้ง:คัมภีร์แห่งการเปลี่ยนแปลงของจีนเล่มนี้ นับเป็นหนังสือที่สำคัญที่สุดเล่มหนึ่ง ในโลกของ วรรณกรรมอย่างไม่ต้องสงสัย ต้นกำเนิดของคัมภีร์นับย้อนไปสู่สมัยโบราณซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราว

ของเทพ  คัมภีร์เล่มนี้ได้ดึงดูดความสนใจของนักปราชญ์ที่สำคัญของจีนตราบจนถึงปัจจุบัน ตลอดระยะเวลาสามพันกว่าปีแห่งประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของจีน ส่วนที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดนั้นได้รับแรงบัลดาลใจจากคัมภีร์เล่มนี้ ดังนั้นจึงเป็นการปลอดภัยที่จะกล่าวว่า ปัญญาอันช่ำชองซึ่งผ่านกาลเวลานับด้วยพันปีได้เป็นส่วนประกอบในคัมภีร์อี้จิ้ง 

            เส้นตรงหกเส้น

คัมภีร์แห่งการเจริญเติบโตมาเป็นเวลาหลายพันปี ประกอบด้วยหลายชั้นหลายเชิงซึ่งแตกกิ่งก้านมาจากยุคสมัยสำคัญที่สุดของความคิดจีน จุดเริ่มแรกในคัมภีร์เป็นการรวบรวมภาพหรือสัญลักษณ์ จำนวน 64 อัน สร้างขึ้นจากความคิดเรื่องหยิน หยาง และใช้เป็นการทำนายเหตุการณ์ต่าง ๆ

 

สัญลักษณ์แต่ละอันประกอบด้วยเส้นตรงหกเส้น อาจจะเป็นเส้นประ (หยิน) หรือเส้นทึบ (หยัง)ก็ได้ ทั้งหกสิบสี่อันเป็นการผสมผสานระหว่างเส้นตรงในลักษณะดังกล่าวเท่าที่จะเป็นไปได้โดยไม่ซ้ำกัน สัญลักษณ์เหล่านี้ถูกถือเป็นแบบฉบับของเอกภพ แสดงหรือแทนแบบแผนของเต๋าในธรรมชาติและในสภาพการณ์ของมนุษย์แต่ละอันมีชื่อเรียกเฉพาะและมีคำอธิบายเป็นคัมภีร์เล็กๆ เรียกว่าคำทำนาย ซึ่งจะแนะนำสิ่งที่จะต้องกระทำให้เหมาะสมกับสภาพที่เกิดขึ้นเชื่อมโยงกับสัญลักษณ์แต่ละอัน ยังมีคัมภีร์อีกเล่มชื่อ ภาพพจน์ ซึ่งเขียนขึ้นในภายหลัง ได้อธิบายความหมายของสัญลักษณ์แต่ละอันในรูปบทกวีสั้นๆสองสามบรรทัด คัมภีร์อีกฉบับหนึ่งอธิบายความหมายของเส้นตรงแต่ละเส้นของสัญลักษณ์นี้ โดยใช้ภาษาซึ่งเชื่อมโยงกับเทพเจ้าต่าง ๆ ซึ่งมักจะเข้าใจได้ยาก

คัมภีร์ย่อยทั้งสามเล่มนี้ประกอบกันขึ้นเป็นคัมภีร์แห่งการเปลี่ยนแปลงซึ่งใช้เป็นคำทำนาย ผู้มีความสงสัยหรือความทุกข์ เมื่อต้องการทราบสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับตนก็ต้องทำพิธีและสั่นติ้วซึ่งมีจำนวนห้าสิบอัน เมื่อได้ติ้วอันใดอันหนึ่งก็ไปดูที่สัญลักษณ์ที่ตรงกัน จะมีคำทำนายและแนะนำถึงสิ่งที่ต้องกระทำให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ต่าง ๆ

 ในคัมภีร์แห่งการเปลี่ยนแปลง มีภาพพจน์ที่จะเปิดเผย ตอนท้ายมีคำทำนายให้ตีความ โชคและ

เคราะห์ได้บ่งบอกไว้ให้ตัดสินใจ

 จุดมุ่งหมายในการปรึกษากับคัมภีร์อี้จิงจึงไม่ใช่ที่จะรู้อนาคตเท่านั้นแต่ยังช่วยค้นหาสิ่งที่กำหนดสภาพการณ์ปัจจุบันของตน เพื่อที่จะเลือกกระทำการใดได้อย่างถูกต้อง ทัศนคติอันนี้ได้ยกระดับคัมภีร์อี้จิงขึ้นเหนือหนังสือคาถาเวทมนต์ธรรมดา เป็นคัมภีร์ที่กอปรด้วยปัญญา

             การเปลี่ยนแปลง

โดยแท้จริงแล้วประโยชน์ของอิ้จิงในวิถีทางแห่งปัญญานั้นสำคัญมากกว่าประโยชน์ในทางเป็นคำทำนายมากมายนัก มันเป็นแหล่งบันดาลใจของนักคิดจีนตลอดยุคสมัย ดังเช่นเหลาจื้อซึ่งได้แต่งคำสอนที่ลึกซึ้งที่สุดจากบางบทแห่งความเข้าใจในอี้จิง ขงจื้อได้ศึกษาคัมภีร์นี้อย่างจริงจัง และคำอธิบายขยายความของคัมภีร์นี้ซึ่งกลายเป็นคัมภีร์ย่อย ๆ ในระดับต่าง ๆ นั้น ส่วนใหญ่มาจากสำนักของขงจื้อ คำอธิบายขยายความเหล่านี้เรียกว่า ปีกทั้งสิบ ได้รวมเอาการตีความโครงสร้างของสัญลักษณ์เหล่านั้นเข้าด้วยกันกับการอธิบายในเชิงปรัชญา

ที่แกนกลางคำอธิบายขยายความของขงจื้อ เช่นเดียวกับแกนกลางของคัมภีร์อี้จิง ได้เน้นย้ำอยู่ที่ลักษณะการเคลื่อนไหวของปรากฏการณ์ทั้งมวล การเปลี่ยนแปลงอย่างไม่มีที่สิ้นสุดของสรรพสิ่ง และสภาพการณ์ทั้งมวลเป็นสิ่งสำคัญซึ่งแสดงไว้ในคัมภีร์แห่งการเปลี่ยนแปลง

การเปลี่ยนแปลงก็คือคัมภีร์

ซึ่งเราไม่อาจยึดถือย่างโดดเดี่ยว

เต๋าของมันคือการเปลี่ยนแปลงเสมอ

กลับกลาย เคลื่อนไหว ไม่รู้หยุด

เลื่อนไหลผ่านที่ว่าง ทั้งหก

ลอยและจมโดยปราศจากกฎเกณฑ์ตายตัว

ความมั่นคงและความอ่อนน้อมเปลี่ยนกลับไปมา

มันไม่อาจจำกัดได้ด้วยกฎเกณฑ์หนึ่งใด

คงมีแต่การเปลี่ยนแปลงเท่านั้นที่จะกระทำการอยู่ 

โพสเมื่อ 2009-09-23 17:59:26