|
การปลูกชาจีนอย่างถูกวิธี |
| การปลูกชา
ชาเป็นพืชสำคัญชนิดหนึ่งของภาคเหนือปลูกมากในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และน่าน ชาวเหนือนิยมบริโภคในรูป ชาหมัก หรือที่เรียกว่า เมี่ยง โดยใช้อมหรือเคี้ยวก็ได้ การปรุงแต่งรสทำได้หลายรส เช่น รสเปรี้ยว ก็ราดด้วยน้ำส้มมะขามเปียก รสหวานก็ราดด้วยหัวน้ำตาล หรือรสเค็มนิดหน่อยก็ใส่เกลือเพิ่ม เป็นต้น
ส่วนชาที่เรียกว่า ชาจีน เมื่อใส่น้ำร้อนลงไปจะได้น้ำชาสีเขียวอมเหลือง กลิ่นหอม แต่บางชนิดเมื่อชงแล้วจะได้น้ำชาสีเหลืองทอง รสชาติอมฝาด ชาวจีนนิยมชงใส่กาไว้ดื่มแทนน้ำ สำหรับ ชาฝรั่ง และ ชาสำเร็จรูป เวลาชงแล้วเติมรสด้วยนมข้น นมสด หรือครีมเทียม และน้ำตาล ดื่มเหมือนกาแฟ
ประวัติความเป็นมาของชา
ชามีแหล่งกำเนิดทางตอนใต้ของประเทศจีน ชาวจีนนิยมดื่มน้ำชา ซึ่งเป็นเครื่องดื่มประจำชาติมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 พระภิกษุรูปหนึ่งได้นำชาจากประเทศจีนไปยังประเทศญี่ปุ่น นับแต่นั้นมาจึงกลายเป็นที่นิยมของประเทศญี่ปุ่น
ในศตวรรษที่ 17 ชาวยุโรปได้นำชาจากประเทศจีนไปยังประเทศของตนเพื่อใช้เป็นเครื่องดื่ม และสกัดทำตัวยา ต่อมาในศตวรรษที่ 19 ชาจึงกลายเป็นเครื่องดื่มที่แพร่หลายไปทั่วโลก
ประเทศไทยนิยมกินเมี่ยง และดื่มน้ำชา ทั้งในรูปชาจีนและชาฝรั่งมาช้านานแล้ว จนกระทั่งเมื่อ
เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทรวงเกษตรได้รับนโยบายจากรัฐบาล ให้จัดตั้งสถานีทดลองเกี่ยวกับชาที่ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมอบให้กองพืชพรรณ กรมเกษตร เป็นผู้ดำเนินการในปลายปี พ.ศ. 2483 เป็นต้นมา
ปัจจัยสำคัญในการคัดเลือกบริเวณที่ปลูกชา
1. ดิน ควรเป็นดินที่มีการระบายน้ำดี หน้าดินมีอินทรีย์วัตถุสูง มีธาตุไนโตรเจนมาก และมีสภาพความเป็นกรด-ด่าง ของดินระหว่าง 4.5-5.5
2. อุณหภูมิ ชาเจริญเติบโตได้ดีในภูมิประเทศต่างๆ กัน ตั้งแต่ที่มีอุณหภูมิร้อนไปถึงเย็น
(ยกเว้นในพื้นที่ที่เป็นน้ำแข็งบริเวณที่เป็นเส้นรุ้งที่ 29 องศาเหนือ กับเส้นแวงที่ 98 องศาตะวัน ตก แต่อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 70-90 องศาฟาเรนไฮด์ (21-32 องศาเซลเซียส)
3. ความสูงจากระดับน้ำทะเล ชาที่ปลูกในที่ต่ำก็สามารถเจริญเติบโตได้แต่คุณภาพไม่ดีเท่าที่ปลูกในที่สูง ความสูงที่เหมาะสมคือระดับความสูงจากน้ำทะเลระหว่าง 500-1,000 เมตร จะได้ชาที่มีคุณภาพดี
4. ปริมาณน้ำฝน ฝนควรตกสม่ำเสมอตลอดปี ปริมาณน้ำฝนไม่ต่ำกว่า 60 นิ้วต่อไป
สภาพพื้นดินที่ไม่เหมาะสมในการปลูกชา
1. ดินชั้นล่างเป็นหินหรือลูกรัง ทำให้หน้าดินที่ชาจะหยั่งรากลงไปหาอาหารได้ตื้น
2. ในดินที่ไม่มีทางระบายน้ำ เป็นหนอง บึง หรือที่น้ำขัง
3. เป็นที่ราดชันมากเกิน 16 องศา
4. ดินที่เป็นหินปูนมีค่าความเป็นกรด-ด่าง ของดินเกินกว่า 6
5. ดินที่มีอินทรีย์วัตถุในดินน้อย และไม่สามารถเก็บความชุ่มชื้นได้
6. เป็นแหล่งที่มีลมแรง จนไม่สามารถทำที่บังลมได้
7. มีใส้เดือนฝอยระบาด
พันธุ์
ชาเป็นไม้ยืนต้นอยู่ในตระกูล Ternstroemiaceac ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Camellia sinensis L. การแบ่งพันธุ์ชาอาศัยลักษณะใบและทรงพุ่มเป็นสำคัญ ซึ่งสามารถแบ่งได้หลายพันธุ์ คือ
1. ชาจีน (China) เป็นชาที่มีทรงพุ่มเตี้ย ใบขนาดเล็กยาว ประมาณ 1.5-2.5 นิ้ว ใบแข็งกระด้าง สีเขียวเข้ม เส้นใบมองเห็นไม่ชัดมีอยู่ 6-8 คู่ ปลายใบมีรูปไม่แน่นอน ปลูกมากทางแถบตะวันออก และตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และญี่ปุ่น
2. ชาจีนใบใหญ่ (Big Leaved China) เป็นชาที่มีทรงพุ่มสูงประมาณ 16 ฟุต ใบขนาดใหญ่ยาวประมาณ 5.5. นิ้ว ปลายใบป้าน ปลูกมากในยูนนาน และตะวันตกของจีน
3. ชานฟอร์ม (Shan From) ต้นสูงประมาณ 15-30 ฟุต ใบสีเขียวอ่อน ใบยาวประมาณ 6.5 นิ้ว เส้นใบมี 10 คู่ ปลายใบแหลม ปลูกมากในประเทศลาว ภาคเหนือของไทย ภาคเหนือของพม่า และอัสสัม
พันธุ์ ที่แนะนำโดยสถานีพืชสวนฝาง กรมวิชาการเกษตรมี 2 พันธุ์ แบ่งตามลักษณะการนำไป
บริโภค ดังนี้ คือ
1. การปลูกเพื่อทำ ชาฝรั่ง ควรปลูกชาในป่าใหญ่ เช่น พันธุ์อัสสัม
2. การปลูกเพื่อทำชาจีน ควรปลูกชาใบเล็ก เช่น พันธุ์ชาจีน หรือพันธุ์ลูกผสม เช่น พันธุ์ไต้หวัน
การคัดเลือกชาเพื่อทำพันธุ์
ในการปลูกชาใหม่ ถ้าคัดเลือกชาจากต้นที่ให้ผลผลิตสูง จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการลงทุนลดน้อยลง ลักษณะต้นชาที่ดีควรคัดเลือกไว้ทำพันธุ์ มีดังต่อไปนี้
1. สามารถให้ผลผลิตได้เร็ว
2. แผ่กิ่งก้านสาขาดี มีจำนวนใบมาก
3. หลังจากตัดแต่งกิ่งแล้ว มีกิ่งก้านมาก และเจริญได้ดี
4. มีหน่อที่ชะงักการเจริญเติบโตน้อย
5. ข้อไม่สั้นเกินไป
6. การแผ่กระจายของรากดี
7. คุณภาพดี
8. มีความต้านทานต่อโรคและแมลง
ลักษณะของต้นกล้าที่เหมาะสม
1. มีลำต้นโตขนาดแท่งดินสอดำ
2. มีความสูงเกินกว่า 45 เซนติเมตร
3. อายุประมาณ 1 - 2 ปี
ฤดูปลูกที่เหมาะสม
ในช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - สิงหาคม
การเตรียมพื้นที่ปลูกชา
1. ถ้าเป็นที่พื้นที่ราบต้องไถพรวนเช่นเดียวกับการปลูกไม้ยืนต้น ต้องขุดตอและรากไม้ต่างๆ ออกให้หมด ปรับสภาพให้ราบไม่ให้มีหลุมและน้ำขัง
2. ถ้าเป็นบริเวณเนินเขา ควรเลือกเนินที่หันหน้าไปทางทิศเหนือ แล้ววางแนวปลูกตามระดับขอบเนินแบบขั้นบันได
3. ในที่ที่อากาศร้อนและแห้งแล้ง ควรจะมีไม้บังร่ม เพราะจะช่วยบังแสงแดดที่จะมาถูกต้นชาโดยตรง และช่วยลดอุณหภูมิให้เย็นลง และยังเป็นการเพิ่มความชื้นในอากาศอีกด้วย แต่ถ้าปลูกในพื้นที่สูงกว่า 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล ไม้บังร่มก็ไม่จำเป็น
4. สำหรับไม้บังร่มตามธรรมชาติควรจะตัดให้ห่างกันอย่างเหมาะสม เช่น ไม้ขนาดกลางควรให้ห่างกันระหว่างต้น 20 เมตรขึ้นไป
5. ควรเลือกปลูกไม้ตระกูลถั่วเป็นไม่บังร่ม และควรปลูกต้นฤดูฝนก่อนปลูกชา ไม้บังร่มมี 2 ชนิดคือ
แบบชั่วคราว เช่น ถั่วมะแฮะ ปอเทือง โดยปลูกขวางตะวัน ระหว่างแถวที่ปลูกต้นชาใหม่
แบบถาวร เช่นกระถินยักษ์ แคฝรั่ง ทองหลาง ควรปลูกก่อนปลูกชา อย่างน้อย 6 เดือน - 1 ปี
โดยปลูกขวางตะวัน ระยะปลูก 6-8 เมตร ส่วนต้นจามจุรี สะตอ หรือไม้ขนาดเดียวกัน ควรปลูกห่างกัน 8-10 เมตร
6. ควรปรับความเป็นกรด-ด่าง ของดินให้เหมาะสม คือประมาณ 4.5 - 5.5
การเตรียมหลุมปลูก ขุดหลุมขนาดกว้าง ยาว ลึก 30 เซนติเมตร เท่ากันหมด แล้วใช้ส่วนผสมของหน้าดิน ปุ๋ยคอก และปุ๋ยฟอสเฟต คลุกเคล้ากันรองก้นหลุม
ระยะปลูก
ปลูกในที่ราบ ใช้ระยะระหว่างต้น 75 เซนติเมตร ระหว่างแถว 150 เซนติเมตร จะได้ต้นกล้าประมาณ 1,400 ต้นต่อไร่
ปลูกแบบขั้นบันได ใช้ระยะระหว่างต้น 60 เซนติเมตร ระหว่างแถว 120 เซนติเมตร จะได้ต้นกล้าประมาณ 2,200 ต้นต่อไร่
การขยายพันธุ์ทำได้ 2 อย่าง คือ
1. ใช้เมล็ด
2. การปักชำ
การขยายพันธุ์โดยเมล็ด
1. เก็บเมล็ดพันธุ์ที่แก่และสมบูรณ์ในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม และนำมากะเทาะเปลือกทันที
เลือกเอาแต่เมล็ดที่สมบูรณ์แช่น้ำไว้ 1 คืน ช้อนเอาเมล็ดลอยน้ำทิ้งไป ใช้แต่เมล็ดที่จมน้ำ แล้วนำไปเพาะ
2. ภาชนะที่ใช้เพาะจะใช้กระถาง หรือกระบะ หรือจะเพาะในแปลงเพาะก็ได้ วัสดุที่ใช้เพาะคือ ถ่านก้อนเล็กๆ รองพื้นกระถางหรือกระบะหรือในแปลงเพาะแล้วใช้ขี้เถ้าแกลบผสมกับทรายหยาบ อัตรส่วน 1: 1 ใส่บนถ่านก้อนเล็กๆ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม (หรือใช้ขี้เถ้าแกลบล้วนๆ ก็ได้)
3. วางเมล็ดชาให้ตาคว่ำลงแต่ละเมล็ดให้ห่างกันประมาณ 2 เซนติเมตร แล้วใช้ส่วนผสมของขี้เถ้า
แกลบ และทรายกลบหน้าประมาณ 2 เซนติเมตร รดน้ำซ้ำ
4. ใช้ฟางข้าวคลุมกระถางหรือกระบะ หรือแปลงเพาะ
5. ทำค้างบังแดด หรือวางไว้ในเรือนเพาะชำ หรือในที่ร่มรำไร
6. ตรวจความงอกหลังจากเพาะได้ประมาณ 7 วัน เลือกเอาเมล็ดที่งอกรากไปชำในถุงพลาสติก
กระถาง กระบอกไม้ไผ่ ตะกร้าเล็กๆ หรือในแปลงชำ และรดน้ำทุกๆ ครั้งที่ตรวจสอบความงอก
การขยายพันธุ์โดยการปักชำ
ควรเลือกกิ่งที่มีสีระหว่างน้ำตาลและเขียว เลือกคัดเฉพาะตายาวประมาณ 1 นิ้ว
ถ้าต้องการต้นชาไปปลูกในสวนเร่งด่วน และมีกิ่งชามากพอก็เลือกตัดกิ่งที่มีสีน้ำตาลและสีเขียว เท่ากับ 2:1 ซึ่งมีตา 5-7 ตา นำไปเพาะในถุงพลาสติก กระถาง กระบะไม้ไผ่ ตะกร้าเล็กๆ หรือในแปลงชำ การเตรียมดินควรจะใช้ขี้เถ้าแกลบ ทราย หรือทรายผสมขี้เถ้าแกลบ เพื่อที่จะเร่งให้รากออกเร็วขึ้น ควรใช้ปุ๋ยคอกหรือซุปเปอร์ฟอสเฟตรองก้นภาชนะที่ใช้ปลูก
การเตรียมแปลงชำ
หากชำต้นกล้าในถุงพลาสติกสีดำ ขนาด 5x8 นิ้ว ให้ผสมดิน : ทราย : อินทรีวัตถุ อัตรา 1: 3: 6
แล้วนำดินผสมนี้ใส่ในถุงหลังจากนั้น ก็นำกล้ามาชำได้เลย
ถ้าชำในแปลงชำ ควรเป็นดินร่วนผสมอินทรียวัตถุ เพื่อให้ดินอุ้มความชื้นได้ดี หากเป็นดินเหนียวจัดควรใส่ปูนขาวก่อนเตรียมแปลงแล้วผสมทรายหรือแกลบหรือ อินทรียวัตถุ เช่นปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เพื่อให้สะดวกในการขุดย้ายไปปลูกในสวน รากจะได้ไม่ช้ำเกินไป
แปลงชำควรมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เมตร เพื่อให้เอื้อมมือถอนหญ้าได้สะดวก ส่วนความยาวแล้วแต่เหมาะสม ระยะระหว่างต้นประมาณ 10 เซนติเมตร ระหว่างแถวประมาณ 20 เซนติเมตร
ในระยะระหว่างต้นและระหว่างแถว ควรคลุมด้วยหญ้าหรือฟางแห้งเพื่อช่วยป้องกันวัชพืช และรักษาความชุ่มชื้นไว้ด้วย รดน้ำสม่ำเสมอเมื่อฝนไม่ตกและควรทำค้างบังแดดสูงประมาณ 2 เมตร โดยใช้ใบมะพร้าว ใบหญ้าคา ใบจาก คลุมก็ได้ จะเลี้ยงอยู่ในเรือนเพาะชำนาน 1 ? - 2 ปี จึงย้ายไปปลูกในแปลงต่อไป
การย้ายปลูก
ต้นกล้าที่ปลูกจากเมล็ดในภาชนะปลูก เมื่ออายุได้ 24 เดือน ก็ควรย้ายไปปลูกในสวนต่อไป
ต้นกล้าที่ปลูกจากการปักชำ เมื่อชำในภาชนะปลูกได้ 12 เดือน ก็ควรย้ายไปปลูกในสวนต่อไป
ต้นกล้าที่ปลูกในแปลงชำ ใช้ช้อนขุดระวังอย่าให้รากช้ำ ใช้เสียมขุดดินรอบๆ โคนต้น ปล่อยดินไว้รอบๆ โคนต้น แล้วจึงนำไปปลูกในสวน
ถ้าจะขนส่งไปไกลๆ ควรใช้กาบกล้วยหรือกระสอบหุ้มไว้ทั้งรากและดิน อย่าให้รากแห้ง เมื่อปลูกก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับต้นกล้าในแปลงชำ ต้นกล้าที่ชำในถุงพลาสติกให้ฉีกถุงออกก่อนแล้ววางต้นกล้าลงในหลุม โดยให้ต้นกล้าอยู่ลึกลงไปในหลุมเท่ากับระดับที่ชำไว้ในถุงพลาสติก แล้วกลบดินให้แน่น
ควรตัดยอดชาก่อนนำไปปลูกให้สั้นลงเหลือ 30-45 เซนติเมตร จากระดับดิน เพื่อช่วยป้องกันการระเหยของน้ำ และทำให้ตาข้างแตก ต้นชาจะได้เป็นพุ่มมีกิ่งก้านและใบมากขึ้น
ใช้ไม้ไผ่ผ่าซีกขนาดกว้าง 2 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร ปักทแยงมุม 45 องศา ข้างต้นชา แล้วใช้เชือกฟางผูกให้ต้นชาติดกับไม้เพื่อป้องกันลมโยก ซึ่งจำเป็นมากในการปลูกชาบนเขาที่มีลมแรง
การให้น้ำ
หลังปลูกใหม่ๆ ถ้าฝนไม่ตกควรจะให้น้ำทันที และในแหล่งที่หาน้ำได้สะดวก ควรจะให้น้ำกับต้นชาที่ปลูกใหม่สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ควรปลูกชาในวันที่อากาศครึ้มฝนหรือฝนตก ต้นชาจะตั้งตัวได้เร็ว
การปฏิบัติดูแลรักษา
ควรหมั่นดูแลกำจัดวัชพืชที่จะแย่งน้ำและอาหารรอบๆ โคนต้นและหลุมปลูกออกให้หมด และคลุมโคนต้นด้วยหญ้าแห้ง ฟางข้าว เพื่อลดการระเหยน้ำจากดิน ต้นชาที่แห้งตายหรือใบร่วงหมด ให้ปลูกซ่อมใหม่
การใส่ปุ๋ย
หลังปลูก 3 เดือน ควรจะให้ปุ๋ยเร่งการเจริญเติบโต เช่น แอมโมเนียมซัลเฟต ต้นละ 1 ช้อนชา โรยรอบๆ อย่าให้ชิดโคนต้น แล้วพรวนกลบ
ต้นอายุ 1 ปี ควรใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 20-10-10 หรือสูตรใกล้เคียง ต้นละ 1 ช้อนชา และใส่ทุกๆ 3 เดือน
ต้นอายุ 2 ปี ควรใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 20-10-10 หรือสูตรใกล้เคียง ต้นละ 1 ช้อนชา และใส่ทุกๆ 4 เดือน
ต้นอายุ 3 ปี ควรใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือสูตรใกล้เคียง ต้นละ 2 ช้อนแกง โดยโรยรอบๆ รัศมีพุ่ม และใส่ทุกๆ 4 เดือน
ต้นอายุ 4 ปี ควรใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 30-10-10 และ 10-10-20 อย่างละครึ่งหนึ่ง หรือสลับกัน อัตรา 2 ช้อนแกงต่อต้น โดยโรยรอบๆ รัศมีพุ่ม และใส่ทุกๆ 4 เดือน ปีต่อๆ ไปถือเกณฑ์เช่นเดียวกันนี้
หลังจากมีการเก็บผลชาที่แก่ และสมบูรณ์สำหรับนำไปขยายพันธุ์ในเดือนกันยายน-ตุลาคม แล้ว ช่วงปลายเดือนตุลาคมควรใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15- ต้นละ 1 ช้อนชา โรยรอบๆ อย่าให้ชิดโคนต้นแล้วพรวนดินกลบ เพื่อบำรุงต้นให้สมบูรณ์ต่อไป
ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก ควรใส่ทุกปีอย่างน้อยต้นละ 1-2 ปุ้งกี๋
การตัดแต่งกิ่ง
การตัดแต่งกิ่งมีจุดประสงค์คือ เพื่อให้พุ่มต้นเตี้ยเก็บยอดได้สะดวก และตัดกิ่งไม่สมบูรณ์ออกไป ทำให้ต้นชาแตกยอดอ่อนได้เร็ว พุ่มต้นโปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวกและทำให้รับแสงแดดได้ทั่วถึง การตัดแต่งกิ่งควรปฏิบัติดังนี้
1. การตัดแต่งกิ่งครั้งแรก หลังจากปลูกแล้ว ประมาณ 1-2 ปี ต้นชาจะสูงประมาณ 50 เซนติเมตร ให้ตัดยอดทิ้งให้สูงจากพื้นดิน 30 เซนติเมตร
2. การตัดแต่งกิ่งครั้งที่สอง ในปีต่อไปเมื่อต้นชาเจริญเติบโตมีกิ่งมาก ควรตัดให้สูงจากพื้นดิน 40 เซนติเมตร และปล่อยให้ต้นชาแตกทรงพุ่มสูงถึง 60 เซนติเมตร จึงทำการเก็บยอดชา
การตัดแต่งกิ่งควรทำในช่วงเวลาที่ต้นชาพักตัว คือ ตอนช่วงฤดูหนาวระหว่างเดือนธันวาคม- มกราคม ควรตัดให้เฉียง 45 อาศา เพื่อป้องกันน้ำขังตรงส่วนที่ถูกตัด แล้วทาแผลด้วยสารเคมีป้องกันเชื้อรา
ต้นชาจะให้ผลผลิตเมื่ออายุประมาณ 4-5 ปี เมื่อเก็บผลผลิตได้ 2-3 ปี ควรจะทำการตัดแต่งกิ่งชาอีกครั้ง โดยให้สูงจากรอยตัดเดิม 2.5 เซนติเมตร
การปรับปรุงต้นชาที่มีอายุมาก
ผลผลิตของชาจะลดลงทุกปี ควรจะปรับปรุงต้นชาทุกปี ถ้าการบำรุงรักษาดี ต้นชาอาจจะมีอายุได้ถึง 100 ปี ต้นชาที่มีอายุมากควรปฏิบัติดังนี้
1. ใส่ปุ๋ยคอกอัตรา 6 กิโลกรัม ต่อต้นต่อปี โดยโรยรอบๆ ตามรัศมีพุ่ม หรือใช้ปุ๋ยไนโตรเจน 2 ช้อนแกง โรยรอบๆ ต้นก่อนการตัดแต่งกิ่งประมาณ 2 เดือน
2. เลือกกิ่งที่แข็งแรงไว้จำนวนพอกับความแข็งแรงของต้น กิ่งที่ไม่สมบูรณ์มีโรค-แมลง ควรตัดแต่งทิ้งไป
3. ใช้วัตถุคลุมดินหลังจากตัดแต่งกิ่งแล้ว
4. หน้าแล้งให้น้ำตามสมควร
5. มีการใส่ปุ๋ยบำรุงต้นอย่างสม่ำเสมอ (ดูในหัวข้อการใส่ปุ๋ย)
โรคและแมลงศัตรู
โรคแมลงศัตรูของชายังไม่ระบาดทำความเสียหายขั้นรุนแรงนัก แต่ที่พบเสมอมีดังนี้
ระยะต้นกล้าที่ชำในแปลงเพาะชำ โรคแมลงที่พบมีดังนี้
1. ไส้เดือนฝอย จะทำอันตรายราก ควรปลูกต้นดาวเรืองไว้เพื่อป้องกันไส้เดือนฝอย
2. จิ้งหรีด คอยกัดกินต้นกล้า ใช้น้ำมันก๊าดหยอดลงในรูจิ้งหรีด
3. เพลี้ยอ่อน ทำให้ใบหงิก ฉีกพ่นด้วยเซฟวิน
4. โรคที่เกิดจากเชื้อรา ลักษณะอาการคือ มีแผลเป็นวงกลมสีน้ำตาล ตรงกลางแผลจะเป็นจุดสีขาวเกิดที่ใบ และลำต้น ให้ฉีดพ่นด้วย บอร์โดมิกซ์เจอร์หรือซัลเฟอร์ไลม์ผสมน้ำ
ระยะย้ายกล้าไปปลูกในสวน โรคแมลงที่พบมีดังนี้
1. ไรแดง ทำลายใบแก่ในระหว่างเดือนเมษายน-ตุลาคม ใช้ซัลเฟอร์ไลม์ผสมน้ำฉีดพ่น
2. ยุง ทำลายใบอ่อนของชา ระหว่างเดือน กันยายน-ตุลาคม ใช้มาลาไธออนฉีดพ่น
3. โรคที่เกิดจากเชื้อรา
3.1 เกิดที่ใบอ่อนในฤดูหนาว ทำให้ใบหงิกงอ เกิดกับต้นกล้าในแปลงชำ หรือในสวนที่ไม่ได้รับแสงแดด ใช้สารเคมีป้องกันเชื้อราที่มีส่วนผสมของทองแดง ฉีดพ่น
3.2 เกิดที่เปลือกของต้นชาที่ตายแล้ว หรือใกล้จะตาย เชื้อราจะลุกลามอยู่โคนต้น ทำลายรากฝอยและระบาดแพร่ไปสู่ต้นที่ไม่เป็นโรค กำจัดโดยให้ถอนแล้วเผาไฟทิ้ง
3.3 เชื้อราที่ทำลายเซลภายในรากแก้ว ทำให้รากเน่า แผลมีลักษณะสีขาวปนน้ำตาลที่ใต้เปลือกของรากแก้ว กำจัดโดยถอนแล้วเผาไฟทิ้ง
การเก็บใบชา
โดยการเด็ดยอดหลังจากปล่อยให้ยอดยาวกว่า 6 นิ้ว แล้วจึงเด็ด โดยเด็ดยอดที่ยาวเกิน 6 นิ้วขึ้นไป วิธีนี้จะเก็บได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นหลายปี และต้นชาก็ไม่หยุดส่งยอดเมื่อถึงปลายฤดูฝน โดยปกติแล้วมักจะเก็บยอดที่มีใบติดอยู่ 2-3 ใบ
การทำชาจีน
ขั้นตอนหรือกรรมวิธีในการทำชาจีน มีดังนี้
1. การเก็บยอดชา ใบชาสดที่ใช้ในการทำชาจีน จะใช้ยอดชาซึ่งประกอบด้วย สองใบกับหนึ่งยอดตูม ซึ่งทำชาจีนได้คุณภาพดี การเก็บยอดชาไม่ควรเก็บอัดกันแน่นเต็มภาชนะที่ใส่ จะทำให้ใบชาช้ำและเกิดความร้อน ทำให้ใบชาเสื่อมคุณภาพ รสชาติของชาจะเสียไป
2. การผึ่งใบชา ใบชาสดที่เก็บมาแล้วจะนำมาผึ่งในร่มที่เย็นๆ การผึ่งอาจวางใบชาบนชั้นผึ่งชา หรือบนเสื่อให้บางๆ อย่าให้แน่นเกินไป เวลาที่ใช้ในการผึ่งประมาณ 12-18 ชั่วโมง ในระหว่างที่ผึ่ง จะทำการเขย่าหรือร่อนใบชา 3 ครั้ง เพื่อให้น้ำที่มีอยู่ในใบชามีกลิ่นรสดีขึ้น รสไม่ขม
3. การคั่วใบชา ใบชาที่ผ่านการผึ่งแล้วจะนำมาคั่ว การคั่วใบชาจะใช้กะทะหรือเครื่องคั้วชาเป็นถังรูปทรงกระบอกยาวประมาณ 125 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 75 ซม. จุดประสงค์ของการคั่วชาเพื่อให้เซลในใบชาหยุดการทำงาน เป็นการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการหมัก และทำให้ใบชาอ่อนนุ่มสามารถนวดได้ง่าย การคั่วใบชาใช้เวลาประมาณ 5 นาที ใบชาจะเป็นเป็นสีเหลืองอมเขียว มีลักษณะอ่อนนุ่มและมีกลิ่นหอม
การคั่วใบชาเป็นขั้นตอนสำคัญอันหนึ่งในการทำชาจีน ถ้าคั่วใบชาโดยให้ความร้อนมาก
เกินไป หรือคั่วนานเกินไป ใบชาจะไหม้หรือสุกเกินไปทำให้ชามีรสขม ถ้าคั่วเร็วเกินไปใบชาจะไม่สุกทำให้ชามีกลิ่นเหม็น
4. การนวดใบชา หลังจากคั่วใบชาแล้วจะนำเข้าเครื่องนวด จุดประสงค์ของการนวดใบชา เพื่อให้เซลของใบชาแตก น้ำในใบชาจะถูกบีบออกมาคลุกเคล้านอกใบชา เมื่อย่างใบชาแห้งแล้วนำมาชงจะทำให้สีและกลิ่นรสของชาออกมาได้ง่าย นอกจากนี้การนวดจะทำให้ใบชามีรูปร่างเป็นเกลียว สวย
5. การอบใบชา การอบใบชาจะใช้ไหไม้ไผ่ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 65 เซนติเมตร สูง 60 เซนติเมตร ตรงกลางจะมีตะแกรงไม้ไผ่สำหรับวางใบชา นำใบชาที่นวดเสร็จแล้วใส่ในไหไม้ไผ่ยกขึ้นวางบนเตาถ่านที่ก่อสูงจากพื้นประมาณ 47 เซนติเมตร ในระหว่างอบต้องคอยยกลงพลิกกลับใบชาเพื่อให้ใบชาแห้งได้สม่ำเสมอทั่วกัน ระยะเวลาที่ใช้ในการอบใบชาจนแห้งประมาณ 4-6 ชั่วโมง
เอกสารอ้างอิง คำแนะนำที่ 131 เรื่อง การปลูกชาและการทำชาจีน กรมส่งเสริมการเกษตร
เรื่่องอื่นที่เกี่ยวข้อง การปลูกชาจีนอย่างถูกวิธี |
|
|